
กรดไหลย้อน…กับวิธีรักษาอาการ
กรดไหลย้อน (GERD) ถือเป็นโรคยอดฮิตแห่งยุค เพราะคนสมัยนี้เป็นกันมาก คนไทยรู้จักกันทั้งสองโรคเมื่อราว 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง และยังไม่มีใครทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด
แต่สันนิษฐานว่า ตัวการที่ก่อให้เกิดโรคคือ ความเครียด
กรดไหลย้อน คืออะไร
โรคกรดไหลย้อนหรือเกิร์ด (GERD-Gastroesophageal Reflux Disease) ความจริงแล้วไม่ใช่โรคใหม่ ต่างประเทศเรียกโรคนี้ว่า ฮาร์ดเบิร์น (Heartburn) เพราะว่ามันมีอาการแสบร้อนในช่องอก
คนที่เป็นโรคนี้มักมีอาการแสบร้อนจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย บางคนเรอมีกลิ่นเปรี้ยว เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาถึงปากและคอ ทำให้กลิ่นลมหายใจไม่สะอาด
กรดไหลย้อน ยังส่งผลเสียต่ออวัยวะช่วงลำคอ ทำให้มีอาการไอ ระคายคอ เสียงแหบ และกระตุ้นโรคหืดให้กำเริบหนักได้ ซึ่งโรคนี้มักมีอาการเรื้อรัง สร้างความรำคาญใจอย่างมาก
คำถามคืออาการนี้สามารถนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นได้หรือไม่? คำตอบคือ ถ้าปล่อยให้มีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน กรดในกระเพาะอาหารที่หลั่งออกมาจะทำลายเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารและอาจเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้
เมื่อทราบเช่นนี้ก็เกิดความกังวลอีก ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด ผู้ป่วยจึงตกอยู่ในวงโคจรของโรคโดยไม่สามารถควบคุมอาการได้
กรดไหลย้อน เกิดขึ้นอย่างไร
โดยกลไกการเกิดโรคกรดไหลย้อน คือ หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำงานผิดปกติ เกิดการคลายตัวในเวลาที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะตอนกลืนอาหาร เมื่ออาหารไหลลงไปแล้ว หูรูดหลอดอาหารหดตัวปิด อาหารหรือกรดในกระเพาะอาหารจึงไม่ไหลย้อนกลับขึ้นด้านบน
แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารไม่ทำงาน พบเพียงว่ากระเพาะอาหารบีบตัวมากเกินไปจึงทำให้หูรูดหลอดอาหารคลายตัว
สาเหตุหลักของการเกิดโรคกรดไหลย้อน เกิดจากพฤติกรรมที่เราทำอยู่เป็นประจำ เช่น พฤติกรรมการกินที่ผิดเพี้ยน กินอาหารไม่ถูกต้อง น้ำหนักมาก รายการสูบบุหรี่จัด เหล่านี้ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
ปัจจัยที่ทำให้เป็นกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการได้ ดังนี้
- มีความเครียด เวลาเครียดหรือโกรธจัด อารมณ์ที่พลุ่งพล่านจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารออกมามากเกินไป
- กินอาหารจนแน่นท้อง ซึ่งส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารเอ่อล้นออกมา
- กินอาหารกระตุ้นอาการ เช่น อาหารรสจัด ของทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- น้ำหนักเกินหรืออ้วนลงพุง เนื่องจากไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้องจะไปเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้กรดเกิดการไหลย้อนได้
- สวมเสื้อผ้ารัดรูป เช่น ใส่กางเกงยีนส์ฟิตเปรี๊ยะ ใส่สเตย์รัดหน้าท้อง
- นั่งเอนหลังหรือนอนหลังจากกินอาหารเสร็จใหม่ๆ
- กินยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขยายหลอดลม หรือการรับฮอร์โมน และการสูบบุหรี่จัด
- ตั้งครรภ์ เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ซึ่งส่งผลต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้
เมื่อมีอาการกรดไหลย้อน แล้วไปซื้อยาลดกรดมากินเพื่อแก้อาการ นั่นเป็นวิธีแก้แบบชั่วคราว อาการหายไปแล้วก็จะกลับมาเป็นอีก เพราะไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ
วิธีแก้กรดไหลย้อน
เมื่อเป็นกรดไหลย้อน หรือโรคอะไรก็ตาม เรามักไปหาหมอฝากหน้าที่ความรับผิดชอบไว้ให้คุณหมอ แต่สำหรับวิธีแก้โรคกรดไหลย้อนต้องอาศัยการดูแลตัวเองมิใช่น้อย
มูลนิธิ IFFGD แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคทุกอย่าง ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการกินอาหารให้ถูกต้อง ดังนี้
1. เอนหลังหรือนอนหลังจากกินอาหารมื้อใหญ่อย่างน้อย 3 ชั่วโมง และไม่ควรกินอาหารว่างใกล้เวลาเข้านอน
2. ไม่ควรออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องก้มตัวลง เช่น กวาดหรือถูบ้านหลังกินอาหาร
3. ไม่ควรกินอาหารมากเกินไป ไม่ว่าจะอร่อยมากแค่ไหน ก็ควรกินในปริมาณพอเหมาะ
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการ เช่น ของทอด นม เนย หอมหัวใหญ่ ช็อคโกแลต น้ำมะเขือเทศ น้ำส้ม ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น
5. ไม่ทะเลาะหรือถกปัญหาเครียดๆระหว่างกินอาหาร ควรกินอาหารในบรรยากาศสบายๆ
6. ควรกินอาหารมื้อกลางวันให้มาก ส่วนมื้อเย็นกินน้อยๆ และเลื่อนเวลามื้อเย็นให้เร็วขึ้นเพื่อให้ห่างจากเวลาเข้านอน
7. หากมีอาการแสบร้อนกลางอกเป็นประจำ เวลานอนควรหนุนหมอนสูงหรือหนุนผ้าบริเวณเหนือเอวให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อน
8. ควรลดน้ำหนักและบริหารร่างกายเพื่อลดไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง
เพียงเท่านั้น เราก็สามารถที่จะรักษาและป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเลือกปฏิบัติตัวให้มีสุขลักษณะที่ดีและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นอาการโรค แล้วอาการกรดไหลย้อนก็จะไม่มากวนใจเราอีกต่อไป
บทความที่น่าสนใจ