FAQ, อันตรายต่อมหมวกไตล้มเหลว

อ่อนเพลีย…ส่อ ‘ต่อมหมวกไต’ ล้มเหลว

%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%95-%e0%b8%ad%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b8%a2

อันตราย..หาก “ต่อมหมวกไต” ล้มเหลว

คุณเคยมีอาการอย่างนี้บ้างมั๊ย? “อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง.. เบื่ออาหาร ปวดท้อง” ซึ่งอาจจะทำให้ตอนแรกคิดว่าเป็นไข้หวัดทั่วๆไป

แต่พออาการมันเป็นอยู่นานนับสัปดาห์ แถมต่อมายังมีผิวดำคล้ำเพิ่มขึ้นด้วย.. คราวนี้คงต้องคิดถึงโรคต่อมหมวกไตล้มเหลวแล้วล่ะ !

       ต่อมหมวกไตล้มเหลวเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า Addison’s Disease เป็นโรคที่ ต่อมหมวกไต ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเยียวยาโดยเร็ว

เนื่องจากถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ ประธานาธิบดีเคเนดี้ก็มีโรคประจำตัวนี้ แต่ด้วยการได้รับการรักษาทางยาและติดตามที่ดีโดยแพทย์ประจำตัวมาตลอด จึงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ

ปกติคนเรามีต่อมหมวกไตอยู่ทั้ง 2 ข้าง รูปร่างเหมือนหมวกครอบอยู่บริเวณชั้นบนของไต (รูปร่างคล้ายเม็ดถั่ว) มีขนาดเล็ก ส่วนเปลือกนอกของต่อมนี้จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน 2 ชนิด คือ คอร์ติซอล(cotisol)  และอัลโดสเตอโรน (Aldosterone)

      คอร์ติซอลมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลและโปรตีนเป็นพลังงานได้ดี ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับความเครียด การติดเชื้อ และการบาดเจ็บได้ ขณะที่อัลโดสเตอโรนจะมีฤทธิ์ช่วยกำกับค้ำจุนให้สารจำพวกเกลือแร่อย่างโซเดียม โพแทสเซียม และน้ำในร่างกายให้อยู่ในสภาพคงที่ได้

สภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลวมี 2 แบบ คือ แบบปฐมภูมิซึ่งเกิดจากต่อมเอง และทุติยภูมิ คือเกิดจากสาเหตุนอกต่อม

ภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลวอย่างเฉียบพลันแบบแรก โดยมากเกิดจากการที่มีเลือดออกใน “ต่อมหมวกไต” ภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลวแบบเรื้อรัง ส่วนมากเกิดจากต่อมหมวกไตถูกทำลายโดยภาวะระบบภูมิคุ้มกันต้านตัวเองหรือการติดเชื้อ (เช่น วัณโรค) หรือมะเร็งแพร่กระจายมาทำลาย เช่น มะเร็งเต้านม ปอด ไฝดำ

ภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลวอย่างหลังอาจมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ขาดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ที่เรียกว่า  Adrencorticotropic Hormone ( ACTH)

ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นต่อมหมวกไตให้สร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล ถ้าขาด ACTH ต่อมหมวกไตก็สร้างคอร์ติซอลได้น้อย แม้ว่าต่อมหมวกไตจะไม่ถูกทำลาย แต่ก็เกิดอาการล้มเหลวเช่นกัน

      แม้ว่าโรคต่อมหมวกไตล้มเหลวหลายอย่างจะเป็นสภาวะถาวร แต่บางอย่างก็เป็นแค่ชั่วคราว สภาวะล้มเหลวชั่วคราวที่พบบ่อยคือ คนที่กินยากลุ่มสเตียรอยด์ (ซึ่งคอร์ติซอลก็เป็นสารกลุ่มนี้)เป็นเวลานานๆ

ยากลุ่มนี้มักจะใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ หอบหืด ผื่นผิวหนัง เมื่อคนกินสเตียรอยด์เข้าไปจะไปกดการทำงานของต่อมใต้สมอง ทำให้ผลิต ACTH ได้น้อยลง

เป็นผลให้ต่อมหมวกไตฝ่อลง ผลิตคอร์ติซอลและอัลโดสเตอโรนได้น้อยลง หลังจากเลิกกินยาสเตียรอยด์แล้ว อาจต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน บางรายเป็นปีในการฟื้นตัวสู่สภาพปกติของต่อมหมวกไต

และขณะที่กำลังฟื้นตัวนี้คนๆนั้นจะมีจุดอ่อนเพราะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลไม่พอใช้ เมื่อไปเจอกับสภาวะเครียด เช่น การผ่าตัด บาดเจ็บ การติดเชื้อ ก็จะเกิดภาวะวิกฤติต่อมหมวกไตล้มเหลวเฉียบพลันได้ ความดันเลือดตกฮวบ ช็อก ถ้าหากรักษาโดยให้คอร์ติซอลไม่ทันก็จะเสียชีวิต

คนที่ชอบซื้อยากินเอง กินยาชุด ยาลูกกลอน จากหมอตี๋หมอบ้าน เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดเมื่อยตามข้อ ตามตัวหรืออื่นๆโดยไม่รู้ตัวว่ายาที่กินมีสเตียรอยด์อยู่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก

เพราะเมื่อกินไปนานๆแล้วอาจไปกดการทำงานของ ต่อมหมวกไต จึงเสี่ยงต่อภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลว เมื่อเกิดความเครียด เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ติดเชื้อ หรือผ่าตัด จะทำให้เกิดอาการช็อกตายได้

แต่ถ้ารู้ก่อนและได้รับสเตียรอยด์ทดแทนเข้าไปต่อต้านความเครียดก็จะไม่เกิดอาการช็อก เช่น คนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดโรคทางศัลยกรรม ถ้าให้สเตียรอยด์เข้าไปก่อนผ่าตัดก็สามารถผ่าตัดใหญ่ได้โดยไม่เกิดภาวะวิกฤติต่อมหมวกไตล้มเหลว

ถ้าไปหาศัลยแพทย์ก็ต้องบอกหมอด้วยว่าเคยกินยาสเตียรอยด์มาก่อน บางคนเคยกินมาแล้วถึงปีก็ยังอาจจะมีปัญหาได้ถ้าไม่ได้รับยาทดแทนเข้าไป

อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาการต่อมหมวกไตล้มเหลว

อาการต่อมหมวกไตล้มเหลวเรื้อรัง

มักจะเกิดขึ้นช้าๆ ส่วนมากใช้เวลาหลายเดือน อาการมีดังนี้

  • อ่อนแรง อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • กรณีที่เป็นโรคแบบปฐมภูมิจะมีผิวหนังดำคล้ำลง และหิวเกลือ
  • ความดันเลือดต่ำ เวียนหัวบ่อย
  • ปวดท้อง พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือท้องผูก
  • มีไข้ ไม่ยอมหาย

    ถ้ามีอาการที่ว่าไม่ยอมหายควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการปวดท้อง อาเจียนมาก ท้องเดิน ความดันเลือดลดลง ช็อก หมดสติ ต้องไปหาหมอด่วน เพราะว่าถ้ารักษาไม่ทันก็อาจไม่ฟื้นได้

โรคนี้อาจจะวินิจฉัยยาก เนื่องจากอาการที่แสดงคล้ายคลึงกับโรคอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้หลงทาง จึงต้องใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจการทำงานโดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับโซเดียม โพแทสเซียม คอร์ติซอล และ ACTH

ถ้าผิดปกติอาจต้องทดสอบโดยใช้ ACTH กระตุ้น โดยวัดระดับคอร์ติซอลในเลือดก่อน-หลังการกระตุ้น ดูผลตอบสนองเป็นอย่างไรจึงสามารถบอกโรคได้

ตรวจดูลักษณะทางกายภาพโดยใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTscan) ทำให้รู้ขนาดและรูปร่างที่ต่างของต่อมหมวกไต ทำให้บอกโรคได้ เช่น ถ้ามีขนาดเล็กกว่าปกติอาจหมายถึงโรคภูมิคุ้มกันต้านตัวเอง ถ้าขนาดโตขึ้น อาจหมายถึงก้อนเนื้องอกทั้งชนิดร้ายและไม่ร้ายแรงหรือการติดเชื้อ

โรคต่อมหมวกไตล้มเหลวเรื้อรังถ้าวินิจฉัยได้ถูกก็สามารถรักษาด้วยยาเข้าไปแทนที่ฮอร์โมนที่ขาดหายไป อย่างเช่น จอห์น เอฟ เคเนดี้ ที่ได้รับยาตลอดชีวิต แต่โรคไม่หายขาด

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคนี้ ก็คือ ควรป้องกันด้วยการพกข้อมูล หรือห้อยป้ายข้อมือที่แสดงชื่อตัว ชื่อโรค และยาที่กินประจำไว้เพื่อประโยชน์ในยามฉุกเฉิน ถ้าช็อกหรือหมดสติจะช่วยให้หมอวินิจฉัยได้รวดเร็วและช่วยชีวิตได้ทัน

      การปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุลที่ปกติดี จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย

>> ปรับสมดุล เพิ่มภูมิคุ้มกันด้วย Nutriga <<
>> ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิงด้วย Click <<

error: do not copy content!!