
โรคเสื่อมส่อให้เป็น ‘ต้อกระจก’
หลายคนมีอุดมการณ์แน่วแน่ว่า “อย่าได้แคร์ความเสื่อมโทรม เหี่่ยวเฉา และร่วงโรยของผิวพรรณ” เพราะไม่ยึดติดกับความงามภายนอก หรือมีเรื่องเครียดๆจึงสังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึกทุกวี่วัน การทำลายสุขภาพที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่ทำให้ผิวแห้งเหี่่ยวโรยราเพียงอย่างเดียวแต่ยังทำให้อวัยวะเล็กๆอย่าง “เลนส์ตา” เกิดความเสื่อมจนกลายเป็นต้อกระจกได้ด้วย
เสื่อมเร็วสุดๆเพราะ พฤติกรรม + วัย + โรค
นักวิจัยมีความเห็นถึงสาเหตุการเกิด ต้อกระจก ว่า free radical หรือ อนุมูลอิสระ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดต้อกระจก ซึ่งเกิดจากการสัมผัสรังสีอัลตร้าไวโอเลต การสูบบุหรี่ การได้รับมลพิษและปัจจัยต่างๆในสิ่งแวดล้อม
อนุมูลอิสระเหล่านี้จะเข้าไปทำลายโครงสร้างเซลล์ที่บอบบางของเลนส์ตา นอกจากนี้การเกิด “ต้อกระจก” ยังสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเสี่ยง
แพทย์หัวหน้าศูนย์เลสิกสายตาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เล่าให้ฟังว่า โรคต้อกระจกส่วนใหญ่จะเกิดกับคนอายุ 60-65 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตา
เพราะเลนส์ตาที่ปกติจะมีความใส แสงสามารถลอดผ่านไปยังจอภาพได้ แต่พอมีอายุมากขึ้น เลนส์ตาจะเริ่มเสื่อมลง เลนส์จะเกิดความขุ่น ทำให้แสงไม่สามารถลอดผ่านไปได้หรือผ่านได้เฉพาะแค่บางจุด
จึงเกิดการหักเหของแสง แสงแตกกระจาย ทำให้การมองเห็นเปลี่ยนไปเช่น มองเห็นภาพมัวๆ ภาพเป็นฝ้า ภาพซ้อน หรือมีอาการตาสู้แสงไม่ได้
แต่บางคนอายุยังไม่ทันจะ 60 ก็เป็นต้อกระจกแล้ว คนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกได้ง่ายและเร็วกว่าคนทั่วไปคือ คนที่เป็น โรคเบาหวาน ที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ เพราะปกติเลนส์ตาจะแช่อยู่ในน้ำภายในช่องหน้าม่านตา
น้ำนี้มาจากเลือด ซึ่งเส้นเลือดดูดซึมแล้วกรองออกมา ดังนั้นจึงมีน้ำตาลปนอยู่ด้วย สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลพุ่งขึ้นสูงทันที เช่น ขึ้นไปถึง 400-500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจทำให้เป็นต้อกระจกแบบเฉียบพลันได้
เนื่องจากน้ำในช่องหน้าม่านตามีน้ำตาลสูง น้ำตาลจึงซึมเข้าสู่เลนส์ตา เกิดการบวมของเลนส์ตาจนกลายเป็นต้อกระจกได้ แต่ต้อกระจกชนิดนี้ถ้าควบคุมน้ำตาลให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติก็จะหายเองได้
คนป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงปรี๊ด คืออยู่ในระดับ 200-300 Mg เป็นระยะเวลานานๆ
ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นต้อกระจกได้มากกว่าคนทั่วไปเหมือนกัน เนื่องจากเลนส์ตาต้องแช่อยู่ในน้ำที่มีน้ำตาลมากกว่าปกติ ก็ย่อมทำให้เลนส์ตาต้องทำงานหนักเพื่อดูดน้ำตาลออกจากตัวเซลล์ จึงทำให้เลนส์ตาเสื่อมลงในที่สุด
กลุ่มสุดท้ายคือ คนที่มีโอกาสเป็นต้อกระจก โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุและโรคเบาหวาน คือ คนที่มีเลนส์ตาผิดปกติมาแต่กำเนิด การได้รับรังสีจากการฉายแสง การกินยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เป็นต้น
เมื่อต้อกระจกกลายเป็นต้อหิน!
ถึงตรงนี้ คุณอาจสงสัยต่อว่า “ต้อกระจกเป็นโรคอันตรายร้ายแรงหรือไม่?” คำตอบคือ โรคต้อกระจกไม่ใช่โรคร้ายแรง เพียงแต่จะทำให้การมองเห็นลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ถ้าถามว่าจำเป็นต้องผ่าตัดทันทีเลยไหม? ตอบเลยว่าไม่จำเป็น บางคนรอได้เพราะอาการยังไม่มาก เพียงแค่เห็นภาพมัวๆนิดหน่อย รวมถึงคนไข้ที่อยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ไปทำงาน ก็ไม่ต้องใช้สายตามาก
“ขณะที่บางคนต้องรีบผ่าตัดทันที..” เพราะอาชีพที่ทำอยู่จำเป็นต้องใช้สายตามากเช่น คนขายเพชร คนขับรถ ถ้าผู้ป่วยยังปล่อยให้อาการของโรคดำเนินต่อไปโดยไม่หมั่นมาตรวจ ต้อกระจกอาจจะกลายเป็นต้อหินได้ ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรง
“มีคนไข้บางคนที่เป็นต้อกระจกแล้วปล่อยทิ้งไว้จนต้อสุกก็มี..” ซึ่ง ต้อสุก หมายถึง เลนส์ตาที่ขุ่นและบวมมากจนกลายเป็นต้อหิน ผลที่ตามมาคือ เลนส์ตาที่บวมจะไปกดพวกประสาทตา ทำให้ขั้วประสาทตาฝ่อ และอาจทำให้ตาบอดได้
รวมถึงคนไข้จะมีอาการปวดตา มีความดันลูกตาสูง ซึ่งเป็นอันตรายมาก แนะนำคนที่เป็นต้อกระจกและคนทั่วไปว่า ให้มันตรวจสายตาด้วยตัวเองโดยใช้มือปิดตาทีละข้างแล้วเพ่งมองของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าพบว่าการมองภาพเริ่มไม่ชัดเจน หรือมีฝ้าขาวมากขึ้นจากเดิมที่เคยเห็น ให้รีบมาตรวจกับจักษุแพทย์ทันที
เราจะมีวิธีป้องกันต้อกระจกได้มั้ย ?
ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันถึงวิธีการป้องกันต้อกระจกที่แน่นอน แนะนำให้กินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อช่วยให้สุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง ชะลอความเสื่อมของร่างกายโดยเฉพาะเลนส์ตา
สุดยอดอาหารบำรุงสายตา ป้องกันต้อกระจก
นอกจากต้องปรับพฤติกรรมเสี่ยงเช่น หยุดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือพักผ่อนน้อย ซึ่งเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดอนุมูลอิสระแล้ว ยังมีอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อดวงตา ซึ่งเราสามารถทานเสริมเพื่อบำรุงสายตาได้
1. วิตามินซี เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ มีบทบาทช่วยป้องกันไม่ให้โปรตีนในดวงตาจับตัวกันซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดต้อกระจก พบอยู่ในพริก บล็อกโคลี่ ผลไม้รสเปรี้ยวและฝรั่ง
2. ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) จัดอยู่ในกลุ่มสารแคโรทีนอยด์ ทั้ง 2 ชนิดนี้ทำหน้าที่คล้ายแว่นกันแดด คอยกรองรังสีอัลตร้าไวโอเลตไว้
จึงช่วยยับยั้งไม่ให้โครงสร้างอันบอบบางของเซลล์นัยน์ตาได้รับความเสียหาย พบในข้าวโพด คะน้า กีวี ถั่วลิสง และปวยเล้ง
3. เคอซิติน ช่วยฟื้นฟูดวงตาหลังจากได้รับอันตรายจากรังสีในแสงแดด มีในแอปเปิ้ล เชอรี่ และหอมเล็ก
4. วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ คอยปกป้องเนื้อเยื่อเซลล์ไม่ให้ได้รับอันตรายจากแสงแดด นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องวิตามินเอภายในดวงตาให้ปลอดภัยจากรังสีด้วย
พบในยอดอ่อนฟักทอง อะโวคาโด ปลาซาดีน เมล็ดทานตะวัน จมูกข้าวสาลี
5. เคอร์คูมิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันต้อกระจกได้ โดยป้องกันไม่ให้เลนส์ตาฝ้ามัว สารนี้เข้าไปเสริมการทำงานของกลูต้าไธโอนซึ่งช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ
และคุณสมบัติของสารเคอร์คูมินช่วยป้องกันนัยน์ตาไม่ให้ถูกรังสีอัลตราไวโอเลตทำลาย พบอยู่ในขมิ้นชัน
ที่แน่ๆการกินผักผลไม้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ชะลอความเสื่อมของอวัยวะทุกส่วน ปรับพฤติกรรมการใช้สายตา เสริมด้วยอาหารบำรุงสายตาที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งที่เราควรใส่ใจดูแล
- บำรุงสายตาของคุณด้วยอาหารเสริม Target
- เบาหวานขึ้นจอประสาทตา อย่าประมาท
- วิธีรักษาเบาหวานด้วยน้ำว่านหางจระเข้