
ในยุคสมัยที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โรคภัยไข้เจ็บก็พัฒนาเป็นเงาตามตัว ด้วยLifestyleที่รีบเร่ง
ทำให้ผู้คนมีไขมันสะสมหน้าท้องได้ง่ายขึ้น การมีหน้าท้องหรือพุงที่เคยเป็นเรื่องปกติทั่วไปแต่วันนี้อาจไม่น่าวางใจอย่างที่เคย
หน้าท้องหรือพุงที่โตขึ้นแบบแปลกๆควรสังเกตอาการร่วมให้ดี เพราะอาจมีสิ่งที่ไม่คาดคิดแอบแฝงอยู่ได้ เหมือนกับเด็กหญิงอายุ 14 รายหนึ่ง
โดยเด็กหญิงคนนี้มีอาการท้องโต คล้ายคนท้อง มารดากลัวว่าจะตั้งครรภ์จึงพามาพบแพทย์ เมื่อถามเด็กสาวเธอปฏิเสธว่าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่ประจำเดือนมาไม่ปกติแม่จึงให้กินยาขับประจำเดือนทุกเดือนติดต่อกันเป็นเวลาสองปี
ส่วนท้องที่โตขึ้นนี้ตอนแรกเธอคิดว่าตนเองมีหน้าท้อง จึงพยายามอดอาหารและออกกำลังกาย แต่หน้าท้องก็ไม่ยุบลงจึงตัดสินใจบอกแม่ ผลการตรวจพบว่า เป็น เนื้องอกรังไข่ ขนาดโตเต็มท้อง ซึ่งมีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม โชคดีที่ไม่ใช่มะเร็ง
หลังได้รับการผ่าตัดรักษาก็หายขาดได้ ปัจจัยเสี่ยงส่วนนึงที่ไปกระตุ้นให้เกิด เนื้องอกรังไข่ คือ การกระตุ้นรังไข่ด้วยฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งอยู่ในยาขับประจำเดือนที่กินติดต่อกันถึง 2 ปีนั่นเอง
แต่กรณีของเด็กหญิงอีกรายหนึ่งกลับโชคไม่ดีเช่นนั้น เธอมีอายุพอๆกับคนไข้รายแรก มารดาพามาพบด้วยปัญหาประจำเดือนไม่มานาน 5 เดือน เมื่อตรวจพบท้องโตเท่ากับคนท้อง 5 เดือน ตอนแรกพ่อกับแม่คิดว่าเด็กสาวตั้งท้อง แต่คุณแม่เธอปฏิเสธเรื่องการมีเพศสัมพันธ์
เมื่อตรวจปัสสาวะหาฮอร์โมนการตั้งครรภ์ก็ให้ผลบวก(Positive) ทำเอาผู้ปกครองหน้าตาเครียดทีเดียวแต่เมื่อแพทย์ตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์กลับพบว่าไม่ใช่การตั้งครรภ์ แต่เป็น มะเร็งรังไข่ (Primary Choriocarcinoma) ที่ผลิตฮอร์โมนการตั้งครรภ์ออกมา
ต่อมาภายหลังการผ่าตัดเด็กสาวรายนี้ต้องให้เคมีบำบัดต่อ แต่โชคร้ายที่ โรคมะเร็งรังไข่ ที่เป็นนั้นรุนแรงและกระจายไปถึงปอดแล้ว เมื่อใช้เคมีบำบัดต่อมาแม้มะเร็งที่ปอดจะหายไป แต่กลับพบการกระจายไปที่สมองต่อ สุดท้ายจึงต้องรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดและฉายแสง ผลปรากฏว่าคนไข้รายนี้เสียชีวิตภายในปีที่สาม
เหมือนคนท้อง แต่คือ มะเร็งรังไข่ !
เนื่องจากเป็นโรคที่พบน้อย จึงไม่มีใครคาดคิดว่าเด็กจะมีเนื้องอกรังไข่ อีกทั้งอาการในแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ซึ่งกว่าจะตรวจพบว่ามีเนื้องอกรังไข่ก็มักจะช้าเกินไป(เฉลี่ย 3-4 เดือน) เพราะอาการที่ทำให้เด็กต้องมาพบแพทย์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
เช่น อัตราการโตของเนื้องอกรังไข่ ขนาดของก้อนเนื้องอก ตำแหน่งของก้อนเนื้องอก เป็นมะเร็งรังไข่ที่เป็นมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่ มีภาวะแทรกซ้อนของก้อนเนื้องอกรังไข่หรือไม่ โดยกรณีที่พบบ่อยคือ เนื้องอกรังไข่บิดขั้ว เนื้องอกรังไข่แตก มีเลือดออกในก้อนเนื้องอกรังไข่ เป็นต้น
อาการที่ควรสงสัยว่าอาจเป็น ‘เนื้องอกรังไข่’
1. ปวดท้อง
เป็นอาการที่พบเกินครึ่ง แต่อาการปวดท้องนั้นไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักปวดรอบๆสะดือเหมือนโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ขณะที่บางคนปวดเหมือนโรคไส้ติ่งอักเสบ จึงได้รับการรักษาตามอาการเป็นเวลานานกว่าที่จะรู้ว่าเป็นเนื้องอกรังไข่
2. ท้องโตขึ้น
เนื่องจากเด็กมักมีกล้ามเนื้อท้องแข็งแรง แม้มีเนื้องอกรังไข่ขนาดใหญ่ก็อาจมองไม่ออก ในเด็กอายุเกิน 12 ปีที่เป็นเนื้องอกรังไข่ ตัวเด็กเองและผู้ปกครองพบว่าเด็กท้องโตผิดปกติเพียงร้อยละ 30 แต่หากเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ผู้ปกครองพบว่าท้องโตผิดปกติถึงร้อยละ 80 อาจเป็นเพราะในช่วงวัยนี้ ผู้ปกครองยังต้องดูแลใกล้ชิดเช่นยังอาบน้ำให้อยู่ เป็นต้น
3. ประจำเดือนผิดปกติ
เนื้องอกรังไข่ในผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นชนิดเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial Cell Tumor) ซึ่งไม่สร้างฮอร์โมน แต่เนื้องอกรังไข่ในเด็กส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นชนิดสืบพันธุ์ (Germ Cell Tumor) ซึ่งมักสร้างฮอร์โมน ทำให้เด็กมีประจำเดือนผิดปกติ ไม่มา มากระปริบกระปอย หรืออาจมามาก โดยในเด็กที่ยังไม่มีประจำเดือน จะทำให้มีอาการเป็นสาวเร็วกว่าวัย เช่น เต้านมขึ้นหรือมีประจำเดือนมา ซึ่งอาการเช่นนี้พบได้ถึงร้อยละ 5 ของเด็กที่มีเนื้องอกรังไข่
4. อาการซึ่งเป็นผลจากการกระจายของมะเร็งรังไข่
โดยเด็กมักมาด้วยอาการปวดหัว เหนื่อย หอบ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ปวดกระดูก เนื่องจากมะเร็งรังไข่กระจายไปที่สมอง ปอด ช่องท้อง กระดูกนั่นเอง การรักษาเนื้องอกรังไข่ ใช้การผ่าตัดเป็นหลัก หากเป็นเนื้องอกธรรมดาของรังไข่ ส่วนใหญ่จะเอาแต่เนื้องอกออก โดยเหลือเนื้อของรังไข่ไว้ แต่หากเนื้องอกทำลายรังไข่จนหมด ต้องตัดรังไข่ออก “มะเร็งรังไข่” ถ้าเป็นระยะต้นๆ การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวมักจะหายขาด แต่ถ้าเป็นระยะหลังอาจต้องใช้เคมีบำบัดและการฉายแสงบำบัดร่วมกับการผ่าตัดด้วย
หลังผ่าตัดในกรณีที่ผ่าตัดรังไข่ออกไปเพียงข้างเดียว หรือตัดเฉพาะเนื้องอกรังไข่ มักไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว เพราะรังไข่เพียงข้างเดียวก็สามารถผลิตฮอร์โมนได้เพียงพอ ทำให้สามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติและมีลูกได้ แต่ควรไปพบแพทย์ทุกปีหรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเพื่อตรวจรังไข่อีกข้าง เพราะในบางกรณีอาจเกิดเนื้องอกรังไข่ข้างที่เหลือได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรค “มะเร็งรังไข่”
- พันธุกรรม ในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้มาก่อน
- พบมากในคนอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากกว่าในคนผอม
- พบในผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์ มากกว่าคนที่มีบุตรแล้ว
- พบในคนที่มีประจำเดือนเร็ว (ก่อนอายุ 12 ปี) หรือหมดประจำเดือนช้า (หลังอายุ 55 ปี)
- เคยใช้ยากระตุ้นการตกไข่ เพื่อช่วยในการมีบุตร
- เคยใช้ฮอร์โมนเพศ เพื่อชดเชยช่วงที่หมดประจำเดือน
- สภาพแวดล้อมเช่น สูบบุหรี่ สารเคมี อาหาร
หมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และป้องกันภัยร้ายจากมะเร็งเสียแต่เนิ่นๆ
>> ปรับสมดุลฮอร์โมนผู้หญิงด้วย Click <<
>> ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำไงดี? <<