
“มะเร็งลำไส้ใหญ่” โรคร้ายที่ป้องกันได้
หลายคนคงคาดไม่ถึงว่าในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหลาย”โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทยรองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด
เราจะพาคุณไปเจาะลึกกันว่าเหตุใดคนไทยถึงยังเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักกันมากมายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ทั้งๆที่โรคนี้สามารถป้องกันได้
พล.ต.รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนักและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจะพาคุณไปไขคำตอบแบบเจาะลึกให้ทราบกัน
ปัจจุบันนอกจากคุณหมอปริญญาจะเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่งทางด้านนี้แล้ว คุณหมอยังเป็นผู้ผลักดันแนวคิดการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในคนไทยวัยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปต่อกระทรวงสาธารณสุขด้วย
เพราะเล็งเห็นว่าโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ดีกว่าประเทศต้องเสียค่ารักษาพยาบาลนับหมื่นๆล้านบาทต่อปี กระทั่งคนไข้ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต คุณหมอจึงได้เสนอแนวคิดการรณรงค์ในการตรวจคัดกรองซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่ามหาศาล
ติ่งเนื้อ (Polyp)
เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญผิดปกติบริเวณลำไส้ใหญ่ที่ยังไม่ก่ออันตรายใดๆ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็สามารถขยายขนาดโตขึ้นเป็นก้อนเนื้อร้ายในระยะเริ่มต้นและกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด
มะเร็ง (Cancer)
คือเซลล์ติ่งเนื้อที่กลายเป็นเนื้อร้าย อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกไปได้เร็วที่สุด จึงเป็นโอกาสดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของมะเร็งได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากสาเหตุใด
ลำไส้ของคนเรามีอาหารที่เรากินผ่านลงไปตลอดเวลา บริเวณลำไส้ตรงนี้มันเหมือนถังขยะเป็นที่หมักหมมเก็บกักสัมผัสอุจจาระตลอด มะเร็งเกิดจากสารพิษจากอุจจาระไประคายเคืองเยื่อบุลำไส้
พอระคายเคืองนานๆเข้าหลายสิบปี เยื่อบุลำไส้ก็แบ่งตัวผิดปกติเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดการผ่าเหล่า ซึ่งมีตัวกระตุ้นให้เกิดความระคายเคืองคืออุจจาระที่มาจากอาหารที่เรากินนั่นเอง
ดังนั้นลำไส้ใหญ่ส่วนที่อุจาระอยู่นานก็จะระคายเคืองนาน โอกาสที่จะเกิดมะเร็งตรงนั้นก็มากขึ้น มีการพิสูจน์แล้วว่าอาหารที่มีสัดส่วนของผักผลไม้น้อย แต่มีเนื้อสัตว์สีแดงสูง จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดน้ำดีทำให้ระคายเคืองเยื่อบุลำไส้
พออายุ 40-50 ปีก็เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ เกิดซ้ำๆจนเกิดเป็นติ่งเนื้องอกเล็กๆ ที่เรียกว่า polyp ซึ่งทิ้งไว้ 10 ปีก็จะเป็นมะเร็ง 100% ฉะนั้นถ้าเจอติ่งเนื้อก่อนแล้วตัดออก ก็จะปลอดภัยจากมะเร็ง
เดี๋ยวนี้คนในอังกฤษ อเมริกาเลยรณรงค์ให้ถ่ายกันวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น ลำไส้สัมผัสอุจจาระน้อยเพียง 12 ชั่วโมง ดีกว่าถ่ายวันละครั้งหรือปล่อยให้ท้องผูก
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่
นี่คือสิ่งที่น่ากลัว เพราะระยะแรกนี่ไม่มีอาการอะไรเลย สามารถพบได้ด้วยการตรวจคัดกรองเท่านั้น ส่วนอาการที่เกิดขึ้นมักเป็นมากแล้ว อาการที่พบมากของ มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ มีเลือดปนมากับอุจจาระ
เพราะมะเร็งกินลึกไปถึงเส้นเลือดและมีโอกาสกระจายแล้ว หรืออุจจาระเล็กลงและมีเนื้อมะเร็งเกิดขึ้นในเยื่อบุลำไส้งอกจนเบียดลำไส้ให้รูแคบลง บางคนมีลำไส้อุดตัน ลำไส้แปรปรวน ท้องผูกสลับท้องเสีย
พวกนี้ล้วนเป็นระยะ 3 ทั้งสิ้น ดังนั้นคนที่จะพบในระยะ 1 ได้จะเกิดจากการคัดกรองอย่างเดียว ดังนั้นทั่วโลกจึงกำหนดว่าคนที่ไม่มีอาการใดๆเลย ไม่มีญาติพี่น้องเป็น เมื่ออายุเกิน 50 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรอง
สาเหตุการตายของมะเร็งลำไส้ใหญ่
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ามะเร็งที่พบบ่อยกับมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายไม่เหมือนกัน ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม พบบ่อยกว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ตายน้อยกว่าเพราะรักษาทัน ดังนั้นสาเหตุการตายจากมะเร็งส่วนใหญ่ มาจาก
- มะเร็งที่ไม่มีวิธีวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก มะเร็งใช้เวลาในการก่อตัวนาน ซึ่งส่วนใหญ่ถ้ารักษาตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งและระยะแรกก็มีโอกาสหายได้มาก ดังนั้นมะเร็งที่มีอัตราตายสูงคือ มะเร็งที่ไม่มีวิธีตรวจพบแต่แรก เช่น มะเร็งตับ หรือ มะเร็งปอด ที่ส่วนมากจะพบเมื่อกระจายไปมากแล้ว
- มะเร็งที่ไม่มีวิธีรักษาที่ดีหรือหายขาด จะเห็นว่ามะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม มีวิธีตรวจหาตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งและมีวิธีรักษาที่ดี เมื่อพบก็จัดการรักษาเลยจึงได้ผลดีมาก ในขณะที่ทั้งมะเร็งตับและมะเร็งปอดตายเยอะ เพราะไม่มีวิธีพบตั้งแต่ระยะแรก และวิธีรักษาโรคระยะลุกลามแล้วที่ได้ผลดียังไม่เกิดขึ้น
ทำไมมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงตายกันมาก
ข้อสังเกตว่าทำไมอัตราการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจึงสูง ทั้งที่มีวิธีตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนเป็นและระยะเริ่มแรก รวมทั้งการรักษาก็ได้ผลดีด้วย แต่น่าเสียดายมากที่ส่วนใหญ่ 70% ที่พบก็มักจะเป็นระยะ 3
ซึ่งเป็นระยะที่แพร่กระจายและลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไม่ยอมมาตรวจ คือ กลัวและอายที่จะถูกตรวจทางทวารหนักจึงไม่ตระหนักถึงภัยนี้
แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการรณรงค์ทางสื่อทุกชนิดมากขึ้น จึงทำให้สามารถพบคนที่เป็นมะเร็งระยะ 1 มากขึ้น ทั้งที่หากได้รับการรักษาในระยะ 1 โดยการผ่าตัดอย่างเดียวก็มีโอกาสหายขาดมากถึง 95%
วิธีการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่
1. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ เพียงแพทย์นำอุจจาระจากทวารหนักส่งตรวจแลป เพื่อหาเลือดที่เกิดจากการหลุดลอกของเซลล์มะเร็งปนออกมากับอุจจาระ มีความแม่นยำสูงถึง 50% แต่อาจให้ผลบวกลวงสูง เพราะเลือดออกจากสาเหตุอื่นก็ได้
2. การสวนแป้ง เพื่อดูก้อนเนื้อในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
3. การส่องกล้องดูลำไส้ (colonoscopy) มีความแม่นยำที่สุดถึง 95% และเป็นวิธีที่ดีที่สุดแต่ค่าใช้จ่ายสูง
4. CT Scan 64 slides เป็นการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำรองลงมาจากการส่องกล้อง แต่ค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน
ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่
โดยทั่วไปคนไข้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เกิดขึ้นเอง 80% เฉลี่ยในคนอายุ 63 ปี จากสาเหตุที่เล่ามา ส่วนอีกกลุ่มประมาณ 10-20% ถ่ายทอดจากพันธุกรรม
ซึ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะ 1 อยู่ภายในผนังลำไส้ โดยมักจะพบมะเร็งในเยื่อบุผนังลำไส้หรือไส้ตรง
- ระยะ 2 ลุกลามออกมานอกผนังลำไส้ โดยมะเร็งได้กระจายออกไปนอกลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง ในบริเวณใกล้เคียง
- ระยะ 3 ลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง โดยมะเร็งได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือบริเวณใกล้เคียง
- ระยะ 4 ลามไปอวัยวะข้างเคียง โดยมะเร็งได้กระจายไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกายที่พบบ่อยที่สุด คือ ตับ รองลงมาคือ ปอด
การที่ทราบว่ามะเร็งอยู่ในระยะไหน จะช่วยให้ทราบถึงการแพร่กระจายของโรค และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ดีที่สุด
วิธีรักษาเมื่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันนี้การผ่าตัดยังเป็นการรักษาหลักที่สำคัญที่สุด ส่วนการรักษาอื่นเช่น การให้รังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริมเท่านั้น เทคนิคการผ่าตัดนี้ เรียกว่า “การผ่าตัดเพื่อหวังผลหายขาด”
ถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดมาอย่างไม่ถูกต้อง คือตัดเนื้อมะเร็งที่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองออกไม่หมด โอกาสจะเกิดโรคมะเร็งซ้ำขึ้นใหม่จะสูงมากและโอกาสรอดชีวิตจะลดลง
มีรายงานจากต่างประเทศว่า การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักโดยศัลยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางโรคนี้จะให้ผลดีกว่า ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป
เทคนิคการผ่าตัดที่ถูกต้อง คือ ศัลยแพทย์ต้องตัดลำไส้ใหญ่ห่างจากมะเร็งอย่างน้อย 5-10 ซม. ทั้งซ้าย-ขวา ตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงลำไส้ใหญ่ สวนน้ำจากจุดตั้งต้น (origin) และรอบต่อมน้ําเหลืองออกไม่น้อยกว่า 12 ต่อม
ยิ่งมากก็ยิ่งดีเพราะมะเร็งจะลุกลามตามต่อมน้ำเหลือง แต่ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ในอุ้งเชิงกราน (rectum) ต้องผ่าตัดโดยเทคนิค total mesorectal excision (TME)
ซึ่งต้องตัดเอาลำไส้ตรงที่เป็นมะเร็งออกให้หมดและเลาะเอาเนื้อเยื่อรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองรอบๆ ออกจนหมด วิธีนี้ถ้าทำอย่างถูกต้องโอกาสเก็บหูรูดทวารหนักเอาไว้จะมีสูงมาก
ผู้ป่วยไม่ต้องถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (colostomy) ตลอดชีวิต
เป้าหมายในการรักษา คือ “don’t give cancer the second chance” ซึ่งหลังผ่าตัดแล้วคนที่มีมะเร็งลุกลามออกไปต้องให้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา
ในหน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่รักษาเฉพาะโรคทางด้านนี้เพียงอย่างเดียว ผลการรักษาที่เกิดมะเร็งซ้ำซ้อนน้อย และโอกาสรอดชีวิตสูงมาก
รวมทั้งสามารถเก็บหูรูดทวารหนักไว้ได้เป็นส่วนใหญ่
การผ่าตัดให้ผลลัพธ์ดีแค่ไหน
ปกติการเป็นมะเร็ง เราไม่พูดว่าจะหายหรือไม่ แต่จะพูดว่ามีโอกาสอยู่ได้เกิน 5 ปี ถ้าเป็นระยะ 1 ผ่าตัดอย่างเดียว มีโอกาสปลอดจากมะเร็งถึง 95% สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ถ้าไม่เคยลุกลามเลยในช่วง 5 ปี ถือว่าหายแล้ว 99.99% ไม่มีโอกาสเป็นอีก
ไม่เหมือนมะเร็งเต้านมที่แม้จะผ่านไป 10 ปี อยู่ดีๆก็ลุกลามไปตับไปปอดได้ดื้อๆเลย
มะเร็งมีโอกาสลุกลามแค่ไหน
สำหรับ 80% ของมะเร็งตับมาจากการลุกลามของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมากที่สุด แต่วันนี้เรามีสโลแกนสากลของ มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ “ป้องกันได้ รักษาหายได้ และเอาชนะได้”
มาจากประโยคที่ว่า “Colorectal Cancer can be Preventable Treatable and Beatable” เพราะวันนี้แม้มะเร็งจะลุกลามไปที่ตับก็มียาเคมีบำบัดใหม่ๆเป็นตัวช่วย
ถ้าตัดก้อนมะเร็งไม่ได้ ก็จะใช้ยาเคมีบำบัดก่อนเพื่อให้มันยุบลงจนพอตัดได้ และหากมีการกระจายหลายๆจุดเล็กๆน้อยๆ ก็จะใช้รังสีร่วมรักษาที่เรียกว่า RFA (Radiofrequency Ablation)
ด้วยวิธีสอดเข็มที่เรียกว่า RF เข้าไปที่ก้อนภายใต้การนำทางโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อเข็มอยู่ตรงเป้าหมาย ก็จะต่อวงจรเข้ากับเครื่องส่งกระแสไฟฟ้า
กระตุ้นให้เกิดคลื่นวิทยุ (RF) เพื่อให้เกิดความร้อนทำลายก้อนมะเร็ง แต่ถ้ามะเร็งลุกลามไปตับสามารถผ่าตัดออกได้ หมอก็จะตัดออกจนหมด ซึ่งคนเหล่านี้จะเหลือตับเพียง 1 ใน 3 ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้
การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
จริงๆแล้วการดูแลตัวเองที่ดีที่สุดคือ สุขบัญญัติ 10 ประการของไทยนี่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว ทั้งการกินอาหารให้ถูกสัดส่วน โดยเฉพาะอาหารไทย น้ำพริก ข้าว ผัก ปลา ในปริมาณเหมาะสม
คนไทยมีอุบายสารพัดให้คนกินผัก จิ้มน้ำพริกให้อร่อย ผัก ผลไม้กินมากดี และมีใยอาหารสูงซึ่งจะช่วยดูดซึมสารพิษต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในกากใยแล้วขับถ่ายออกไปกับอุจจาระ
และก็ควรดื่มน้ำให้มาก ประเทศร้อนๆ แบบเมืองไทยควรดื่มน้ำสัก 2.5-3 ลิตรต่อวัน น้ำนี่รวมถึงของเหลวต่างๆ เช่น แกงจืด ด้วย
นอกจากนี้ก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ คุณก็ทราบดีว่า มะเร็งลำไส้ เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเยื่อบุลำไส้ โดยมีอุจจาระมากระตุ้น ถ้าหลายวันถ่าย ลำไส้จะสัมผัสอยู่กับอุจจาระที่หมักหมมนาน
โอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็มากกว่าคนที่ถ่ายทุกวัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ท้องผูก ควรปฏิบัติตนดังนี้
1. กินอาหารกากใยให้เพียงพอ
2. ดื่มน้ำเพียงพอเพราะมันต้องหล่อลื่น
3. ลำไส้ต้องบีบตัว ซึ่งการออกกำลังกายแบบไดนามิกช่วยได้ คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย จะทราบอย่างไรว่าออกกำลังกายขนาดไหนลำไส้บีบตัว ให้สังเกตว่าเมื่อออกกำลังกายแล้วเราจะเรอ สักพักจะผายลม ดังนั้นการเล่นกีฬาก็จะช่วยให้ถ่ายสบายไม่ท้องผูก
เมื่อทราบข้อแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันกันแล้ว และหากคุณมีอายุ 50 ปีแล้วยังไม่เคยได้ตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ควรเข้ารับการตรวจเสียแต่วันนี้
อีกทั้งการพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะเริ่มแรก จะช่วยให้ได้ผลการรักษาดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามการได้รับการตรวจคัดกรองเสียแต่เนิ่นๆจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับทุกคน
คุ้มค่ากว่าต้องมารักษาเมื่อเป็นมากแล้วเสียทั้งเงินมหาศาลและเสี่ยงต่อชีวิต