
รักชีวิต…อย่าให้ “หัวใจ” ตกอยู่ในอันตราย
ถ้าร่างกายเปรียบเหมือนกับบ้าน หัวใจก็เหมือนกับปั๊มน้ำในตัวบ้านที่คอยทำหน้าที่สูบน้ำสะอาดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆภายในบ้าน และยังส่งน้ำเสียจากภายในบ้านไปกรอง(ฟอก)ให้สะอาดที่ปอด
อวัยวะชิ้นนี้เริ่มทำงานตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิด ทำงานต่อเนื่องเรื่อยมาไม่เคยหยุดพัก แม้ว่าเราจะถึงวัยเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัย
พักผ่อนแล้ว
“หัวใจ” ของเราก็เต้นไปแล้วกว่า 1,800 ล้านครั้ง และยังคงเต้นต่อไปโดยไม่มีการหยุดพัก เมื่อ หัวใจ ต้องทำงานหนักขนาดนี้หากเราปล่อยละเลยไม่ดูแลใส่ใจ โรคร้ายต่างๆย่อมถามหาอย่างแน่นอน และคงเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก”ตัวเราเอง”ที่ต้อง”ปกป้องหัวใจ”ไม่ให้ตกอยู่ในอันตราย!
หัวใจ
มีลักษณะเป็นห้อง 4 ห้อง ทั้ง 4 ห้องนี้ถูกกั้นออกจากกันด้วยลิ้นหัวใจซึ่งจะเป็นเสมือนวาล์วน้ำ ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนทางเวลาที่หัวใจบีบตัว เลือดจะไหลเข้าสู่หัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำใหญ่เทเลือดเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา
หลังจากนั้นเลือดจะไหลผ่านลิ้นหัวใจมาสู่หัวใจห้องล่างขวา ซึ่งจะบีบตัวดันเลือดให้ไปฟอกเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนเปลี่ยนเลือดดำให้กลับเป็นเลือดแดงใหม่ที่ปอด
หลังจากที่ฟอกเลือดจนสะอาดแล้วเลือดจะไหลกลับจากปอดเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายไหลผ่านลงมาสู่หัวใจห้องล่างซ้าย และถูกหัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งมีกล้ามเนื้อที่หนาและแข็งแรงบีบตัวปั๊มเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่รวมทั้งเลี้ยงตัวหัวใจเองด้วย
หลายคนเข้าใจผิดว่า “หัวใจ” นั้นมีเลือดไหลผ่านเข้าออกตลอดเวลา เลยไม่น่าจะมีภาวะ “หัวใจขาดเลือด” ได้ จริงๆแล้วถึงแม้ว่าหัวใจจะเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่บีบตัวปั๊มเลือดที่อยู่ภายในห้องหัวใจไปทั่วร่างกายแต่หัวใจไม่สามารถดึงเอาออกซิเจนจากเลือดที่อยู่ภายในห้องหัวใจไปใช้ได้
เปรียบสเมือนพนักงานธนาคารที่ถึงแม้จะทำงานจับเงินตลอดเวลาแต่กลับเอาเงินนั้นไปใช้ไม่ได้ ต้องปั๊มเลือดออกมาทางหลอดเลือดแดงใหญ่ก่อนแล้วเลือดจึงไหลผ่านหลอดเลือดเล็กๆที่เรียกว่าเส้นเลือดหัวใจ
ซึ่งประกอบด้วยเส้นเลือดหลัก 3 เส้นด้วยกัน เมื่อเทียบกับปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจแล้วเลือดที่กลับเข้ามาเลี้ยงตัวหัวใจเองนั้นเป็นเพียงแค่ 5%ของเลือดทั้งหมดที่หัวใจบีบตัวปั๊มออกไป
หัวใจขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
นอกจากส่วนที่ทำหน้าที่ปั๊มเลือดแล้วหัวใจยังเหมือนกับปั๊มน้ำอีกอย่างหนึ่งตรงที่มันขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ใช่แล้ว…อ่านไม่ผิดหรอก! หัวใจของคนเรานี่แหละขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
ใน “หัวใจ” ของคนเรานอกเหนือจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นหนึ่งในเซลล์ที่แข็งแรงที่สุดของร่างกายแล้ว ยังประกอบด้วยเซลล์อีกจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้กำเนิดกระแสและเป็นตัวนำไฟฟ้าสำหรับวงจรไฟฟ้าเล็กๆในหัวใจ
เป็นเคล็ดลับที่ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจทำงานบีบตัวได้โดยพร้อมเพรียงกันโดยไม่แตกแถว ที่น่าทึ่งก็คือกระแสไฟฟ้าเหล่านี้แข็งแรงมากพอที่จะสามารถวัดได้จากผิวหนังโดยใช้เครื่องมือพิเศษวัดกระแสคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า Electrocardiogram (EKG)
ไฟฟ้าของหัวใจนี่เองที่เป็นส่วนที่ทำให้หัวใจสามารถติดต่อกับส่วนอื่นๆของร่างกายและทำงานสอดประสานกันได้อย่างราบรื่น ไฟฟ้าของหัวใจจะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ
ซึ่งจะปรับจังหวะการเต้นของหัวใจให้ตรงกับความต้องการออกซิเจนและสารอาหารต่างๆที่จะถูกสูบฉีดไปกับเลือดที่ปั๊มผ่านหัวใจออกไปให้อวัยวะต่างๆมีพลังงานนำไปใช้เพียงพออยู่เสมอ
โดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจปกติของผู้ใหญ่อยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ส่วนในเด็กอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วกว่านี้ แต่กลับกันอัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลงเรื่อยๆเมื่อมีอายุมากขึ้น
บางครั้งในบางภาวะร่างกายอาจต้องการพลังงานไปใช้มากขึ้น ทำให้เกิดการส่งสัญญาณไปที่หัวใจ ส่งผลให้หัวใจบีบตัวเร็วขึ้นและแรงขึ้นเพื่อส่งเลือดที่เต็มไปด้วยสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้พอเพียง
เช่น เวลาออกกำลังกาย เวลามีไข้ นอกจากนี้ในคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจนทำให้หัวใจมีความแข็งแรง สามารถบีบตัวปั๊มเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราการเต้นของหัวใจในสภาวะพักก็อาจจะช้าลงอีกเนื่องจากการบีบตัวแต่ละครั้งก็เพียงพอที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
หัวใจกับความดันโลหิต
เมื่อมีแรงบีบตัวของหัวใจดันเลือดออกไปสู่เส้นเลือดใหญ่จึงเกิด”ความดันโลหิต” ซึ่งความดันโลหิตนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงบีบตัวของหัวใจเพียงอย่างเดียว
แต่เกี่ยวข้องกับขนาดของเส้นเลือดที่ไหลผ่านด้วย หลายคนคงจะเห็นภาพเวลาที่เราเอานิ้วไปอุดสายยางรดน้ำต้นไม้แล้วทำให้น้ำพุ่งได้แรงขึ้น ไกลขึ้น การพุ่งของเลือดก็เช่นเดียวกัน เมื่อเส้นเลือดหดเล็กลง เลือดก็จะพุ่งแรงขึ้น จึงเป็นที่มาของความดันโลหิตสูง
ถ้าอย่างนั้นความดันโลหิตสูงก็น่าจะดีสินะ เพราะเลือดพุ่งไกลขึ้นแรงขึ้น หัวใจน่าจะทำงานน้อยลง แบบนั้นทำไมเราต้องมานั่งรักษาโรคความดันโลหิตสูงกันล่ะ?
ก็เพราะในขณะที่เส้นเลือดมีไขมันไปพอกจนทำให้มีขนาดเล็กลง หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีกเพื่อบีบตัวต้านกับแรงเสียดทานของผนังหลอดเลือด แม้ว่าเลือดจะพุ่งได้ไกลได้แรงก็จริง แต่สิ่งที่ร่างกายต้องการก็คือ “ปริมาณ” ไม่ใช่ “ความแรง” ของเลือด
หัวใจจึงต้องทำงานหนักมากขึ้นในการดันเลือดออกไปให้ได้ปริมาณเท่าเดิม นอกจากนี้การที่เลือดพุ่งออกจากหลอดเลือดแรงมากเกินไป ไม่ได้เป็นผลดี นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วยังทำให้เกิดการกระทบกระแทกกับผนังหลอดเลือดจนอาจเกิดการปริแตก ฉีกขาดได้
โดยเฉพาะในเส้นเลือดเล็กที่มีความเปราะบางอย่างเส้นเลือดสมอง ซึ่งถ้ามีการแตกก็อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตไปอย่างถาวรได้ รู้อย่างนี้แล้วเรามารักษาหัวใจให้แข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆเถอะครับ เริ่มด้วย 4 วิธีง่ายๆคือ
1. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ใช้ความเร็ว เช่น การว่ายน้ำ การวิ่ง การปั่นจักรยาน การออกแรงที่ทำให้หัวใจได้เต้นแรงๆ เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 15 นาทีต่อครั้ง จะเป็นเหมือนการ “ฟิตกล้าม”
ให้กับกล้ามเนื้อหัวใจได้หัดทำงาน เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจได้ฝึกบ่อยๆการบีบตัวก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ในเวลาปกติหัวใจจะบีบตัวช้าลง ทำงานน้อยลงก็จะทำงานได้นานขึ้นอยู่กับเราไปจนแก่เฒ่า
2. กินอาหารที่มีประโยชน์ การกินอาหารที่มีไขมันสูงนอกจากจะทำให้ไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ไขมันตัวร้ายยังไปสะสมอยู่ตามหลอดเลือดเหมือนเป็นตะกรันในท่อน้ำ
ทำให้น้ำไหลไม่สะดวกเกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา นอกจากไขมันแล้วยังมีความเค็มที่จะทำให้น้ำถูกเก็บเอาไว้ในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณเลือดหมุนเวียนในร่างกายเพิ่ม แต่คุณภาพของเลือดลดลงหัวใจจึงต้องบีบตัวทำงานหนักขึ้น
3. หลีกเลี่ยงความเครียด เมื่อเรามีความเครียด ระบบต่างๆในร่างกายจะรวนและหลั่งฮอร์โมนความเครียดซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น แรงขึ้น แต่ไร้ประสิทธิภาพเป็นการทำงานหนักโดยไม่จำเป็น
4. งดบุหรี่ นอกจากจะเป็นพิษต่อปอดแล้ว ยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดความผิดปกติ ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควรจะเป็น หลอดเลือดที่แข็งเกินไปเหล่านี้ไม่สามารถขยายตัว
เวลาที่ร่างกายต้องการเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ ดังนั้นหัวใจจึงต้องรับภาระการทำงานหนัก เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่จะช่วยให้หัวใจของคุณแข็งแรง แต่แค่ทำ 4 สิ่งหลักๆนี้ให้ได้ เสริมอาหารด้วยเบต้ากลูแคนที่ช่วยปรับสมดุล ลดปริมาณไขมันร้ายในร่างกายทั้งระบบ ก็เท่ากับคุณได้ถนอมหัวใจของตัวเองไว้ไม่ให้ตกอยู่ในอันตรายได้มากแล้วล่ะ
>> รายละเอียด : น้ำมันรำข้าวผสมเซซามิน Orysamin <<
>> โรคหัวใจ 1ในโรคเสื่อมร้ายแรง <<
>> 4 อาการเสี่ยงโรคหัวใจ ภัยใกล้ตัวคนทำงาน <<