
ทำไมคนไทย ‘เป็นโรคหัวใจ’ กันมาก!?
หลอดเลือด(เส้นเลือด)เป็นสิ่งที่ความสำคัญต่อร่างกาย เพราะสารอาหารต่างๆและออกซิเจนซึ่งมีความจำเป็นต่ออวัยวะในร่างกายจะถูกลำเลียงผ่านหลอดเลือด ถ้าหลอดเลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะใดมีปัญหา ก็จะทำให้อวัยวะนั้นทำงานบกพร่อง
และถ้าหากเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก เช่น หัวใจ สมอง ผลที่เกิดตามมาก็จะเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดสมองแตกซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
โรคหัวใจวาย
โรคหัวใจ มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เป็นมาตั้งแต่เกิด เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว หรือแบบที่เกิดจากการติดเชื้อ แต่ที่พบบ่อยที่สุดก็คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจประมาณ 750,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 22,000 ราย
ปกติหัวใจจะบีบตัวประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที เพื่อสูบฉีดให้เลือดไหลเวียนในร่างกาย ซึ่งหัวใจจะบีบตัวได้ด้วยการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยอาศัยพลังงานจาก ออกซิเจน สารอาหาร เกลือแร่ และวิตามิน
จากเลือดที่มาหล่อเลี้ยงถ้าหากหลอดเลือดดังกล่าวตีบ(เลือดไหลได้บ้าง) กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดแบบเรื้อรัง หากหลอดเลือดอุดตันเมื่อไหร่(เลือดไหลผ่านไม่ได้) กล้ามเนื้อหัวใจจะตาย ทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้ (Heart Attack)
หัวใจล้มเหลว
นอกจากหัวใจวายแล้ว โรคหัวใจอีกชนิดหนึ่งก็คือ หัวใจล้มเหลว (Heart Failure หรือ Congestive Heart Failure) หมายถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้เพียงพอ
ทำให้เกิดอาการไตวาย และอวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด หรือหากขั้วหัวใจซีกขวาล้มเหลวก็จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเข้าหัวใจซีกขวาได้ดี
ผลที่ตามมาคือ ตับจะโต ทำให้แน่นท้อง ปวดท้อง เบื่ออาหาร และมีอาการขาบวม ท้องบวม แต่ถ้าหัวใจซีกซ้ายล้มเหลว จะทำให้มีเลือดคั่งในปอดมาก เหนื่อย หอบ ไอเป็นเลือด
ส่วนสาเหตุของหัวใจล้มเหลวนั้นเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ความดันสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการจากสาเหตุต่างๆเช่น ไวรัส เบาหวาน แอลกอฮอล์ เป็นต้น
โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันหรือฉีกขาด โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางเดินระบบประสาท
โดยผู้ป่วยเป็นโรคนี้มักจะเสียชีวิตหรือไม่ก็พิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดสมองตีบ เลือดจะไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เนื้อสมองบางส่วนจะค่อยๆตายในที่สุดทำให้ความสามารถของสมองลดลง จนกลายเป็นอัลไซเมอร์
ต้นเหตุของโรคหัวใจ
ต้นเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบนั้น ได้แก่ การมีไขมันในเลือดสูง(ทำให้หลอดเลือดอักเสบหรืออุดตัน) ความดันสูง(ทำให้หัวใจทำงานหนัก) เบาหวาน(ทำให้หลอดเลือดเสื่อมแล้วอุดตันได้ง่าย) ความอ้วน(ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพิ่มภาระให้หัวใจ)
การกินคาร์โบไฮเดรตที่เปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้เร็วมากเกินไป(ทำให้หลอดเลือดอักเสบแล้วตีบตันได้) การสูบบุหรี่(หลอดเลือดเสื่อม) ความเครียดและการไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเริ่มตีบแคบหรืออุดตันมากกว่าปกติ (ยังไม่มีอาการใดๆที่แสดงออกมาชัดเจน)
แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดมีการหลุดร่อนของไขมันหรือเนื้อเยื่อ หรือมีลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่ไหลมาตามเลือดแล้วมาอุดช่องนั้น หลอดเลือดก็จะอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดอากาศและอาหาร
ส่งผลให้มีอาการเจ็บเค้นอกคล้ายถูกของแหลมแทง ใจสั่น เหงื่อออก เหนื่อยขณะออกแรงเป็นลมหมดสติ โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมีโอกาสเสียชีวิตทันที 30-40%
สาเหตุที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักจะเป็นผู้ที่ป่วยเป็นโรคอื่นมาก่อน แล้วโรคดังกล่าวส่งผลทำให้เป็นหลอดเลือดสมอง โดยต้นตออันดับหนึ่งก็คือความดันสูง ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดสมองแข็งตัวและเกิดการอุดตันได้ง่าย หรือถ้าความดันสูงมากๆ ก็อาจทำให้หลอดเลือดสมองแตกได้
ต่อไปก็คือ โรคเบาหวาน ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดเสื่อมจึงทำให้อุดตันง่าย ถัดมาก็โรคหัวใจที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือโรคหัวใจที่มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือด แล้วหลุดขึ้นไปอุดในสมองได้ สุดท้ายก็คือ โรคไขมันในเลือดสูง ไขมันดังกล่าวจะทำให้หลอดเลือดสมองตีบลงได้
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองเสื่อมสภาพลงได้มากกว่าคนธรรมดา คนสูบบุหรี่จึงมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนที่ไม่สูบหลายเท่า
รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย ก็ทำให้เสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้เช่นกัน
ไขมันทรานส์ หนึ่งในต้นเหตุ
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มีการนำไขมันพืชไปผ่านกระบวนการแปรรูปทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ไฮโดรจิเนชั่น (Hydrogenation) เพื่อทำให้ไขมันคงตัวอยู่ได้นานมากขึ้น
ไม่เสียง่ายไม่มีกลิ่นหืน มีรสชาติถูกปาก ราคาไม่แพง จนเกิดไขมันอิ่มตัวที่มีชื่อว่า ไขมันทรานส์ (Trans fatty acids)
ไขมันทรานส์พบมากในอาหารทอดทั้งหลาย รวมทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมเบเกอรี่ เช่น คุกกี้ ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว เค้ก แครกเกอร์ ที่มีส่วนผสมของเนยขาว(Shortening)และมาการีน (Margarine)
รวมถึงของทอดจากที่ใช้น้ำมันที่มีไขมันทรานส์ในการทอด (ทอดซ้ำได้หลายครั้ง และทอดได้กรอบอร่อยและไม่ทำให้น้ำมันตกตะกอน) เช่น ไก่ทอด โดนัท ลูกชิ้นทอด ปาท่องโก๋ (ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าร้านไหนใช้)
ไขมันทรานส์ เป็นไขมันที่อันตรายมาก เพราะนอกจากมันจะเข้าไปเพิ่มระดับ LDL คอเลสเตอรอลซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลวในเลือด มันยังลดระดับ HDLคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือดอีกด้วย
การกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรปต่างออกข้อบังคับเกี่ยวกับการระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ
บางแห่งประกาศห้ามร้านอาหาร ภัตตาคาร และผู้ประกอบการด้านอาหารทั้งหลายใช้ไขมันชนิดนี้ในการปรุงอาหารโดยเด็ดขาด
ในประเทศไทยเนื่องจากยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายใดๆมาควบคุมการใช้ หรือบังคับให้ระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลาก เราจึงต้องดูแลตัวเองด้วยการระมัดระวัง
หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของทอด ที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำๆจนหนืด ขนมขบเคี้ยวที่เก็บไว้นานๆก็ยังกรอบ รวมทั้งขนมที่มีส่วนประกอบของเนยขาวและมาการีน โดยเราไม่ควรกินไขมันทรานส์มากกว่า 0.5- 2 กรัม/วัน
อันที่จริงแล้วเราไม่ควรกินไขมันทรานส์เลยแม้แต่นิดเดียว (ก่อนจะซื้ออะไรกิน ควรดูให้ดีว่ามีไขมันทรานส์หรือไม่)
อย่ารอให้สายเกิน
สิ่งที่น่ากลัวก็คือ หัวใจและสมองเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน เราจึงไม่ทราบว่าหลอดเลือดหัวใจหรือสมองของเราเริ่มตีบหรือใกล้จะตันหรือยัง ผู้ป่วยโรคนี้จึงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นจนกว่าจะมีอาการแสดงออกมา (ซึ่งบางคนก็จะรู้เมื่อสายเกินแก้)
ที่น่าตกใจก็คือคนไทยที่ป่วย เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการตายสูงถึง 17% ซึ่งสูงกว่าต่างประเทศกว่า 2 เท่าตัว รักษาโดยการกินยาก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง หรือเลือกวิธีขยายหลอดเลือดหัวใจ (Balloon) ก็ประมาณ 100,000 บาทต่อเส้นเลือด 1 เส้น
หรือถ้าจะผ่าตัด By-Pass ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000 บาท/ครั้ง ขณะที่คนที่ป่วยกลับมาเป็นปกติได้มีน้อยมากๆ พูดง่ายๆว่าโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสองโรคที่หากเราเป็นแล้ว ถ้าไม่ตายก็อาจหมดตัวได้
โอเมก้า 3 ลดความเสี่ยง
ผลงานวิจัยมากมายที่ระบุว่า โอเมก้า 3 ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยลดอาการของโรคความดันสูง ข้ออักเสบ อาการปวดศีรษะไมเกรน
นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาของสมองและการเรียนรู้อีกด้วย (ในสมองของเรามีไขมันเป็นส่วนประกอบมากกว่า 60% จึงต้องการไขมันชั้นดีเพื่อให้สมองสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นโรคดังกล่าวด้วยการกินปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-4 ครั้ง อย่างไรก็ตามปลาที่มีโอเมก้า 3 จะต้องเป็นปลาจากทะเลน้ำลึก
เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ที่ได้กินสาหร่ายหรือแพลงก์ตอนตามธรรมชาติเท่านั้น ปลาที่เลี้ยงในบ่อแล้วให้อาหารประเภทอื่นจะมีโอเมก้า 3 น้อย
กินถั่วเหลืองลดความเสี่ยง
องค์กรอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เป็นประจำ เพราะถั่วเหลืองอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และไอโซฟลาโวนส์ที่ช่วยต่อต้านมะเร็ง โรคหัวใจ
แถมมีสาร Phytoestrogen ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ได้มาจากพืช ที่มีผลในการป้องกันหรือปรับเปลี่ยนภาวะความเครียดผิดปกติของร่างกายหรือการเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะหมดประจำเดือนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังมีวิตามินเกลือแร่ และใยอาหาร นอกจากนี้คนที่กินถั่วเหลืองเป็นประจำวันละ 25-47 กรัม จะช่วยลด LDLคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นการช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
และรักษาระดับความดันในหลอดเลือด และการบริโภคนมถั่วเหลืองหรือเต้าหู้ 1 ถ้วยทุกวัน จะสามารถลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดในอีกด้วย
คนในยุคปัจจุบันที่หันมากินอาหารที่มีใยอาหารน้อย เช่น อเมริกา อังกฤษ รวมทั้งประเทศไทยจึงมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายค่อนข้างสูง ขณะที่โรคนี้แทบไม่พบในชาวคนแอฟริกันที่กินอาหารที่มีใยอาหารมากเลย
เหตุที่โรคนี้แทบจะไม่พบในกลุ่มคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารสูงก็เพราะว่าอาหารที่มีใยอาหารมาก เช่น ธัญพืช พืชผัก ผลไม้ ถั่ว มักจะเป็นอาหารที่มี LDL คอเลสเตอรอลต่ำหรือไม่มีเลยนั่นเอง
ฉะนั้นถ้าเรากินอาหารให้ถูกหลัก กินปลา โอเมก้า3 ถั่วเหลือง กินใยอาหารให้มากพอ เลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาตได้นั่นเอง
บทความที่น่าสนใจ
- โรคหัวใจ ภัยร้ายใกล้ตัวคนทำงาน
- ทำไมเราถึงเสี่ยงเป็นโรค “ไขมันในเลือด” สูง
- ลดไขมันในเลือด ด้วยน้ำมันรำข้าว Orysamin